(เรียนชดเชย)
บรรยากาศในการเรียน
วันนี้ เป็นการเรียนชดเชย อาจารย์จึงนัดมาเรียนที่ตึกคณะใหม่ (ตึก 4) บรรยากาศในการเรียนก็เป็นกันเอง ใกล้ชิดกัน แบบสบาย ๆ นั่งเป็นกลุ่มย่อย มีการปรึกษาการทำงานในกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา รวบรวมแผนการจัดประสบการณ์ของแต่ละคนในกลุ่ม และนำข้อแนะนำของอาจารย์มาประยุกต์เพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานที่อาจารย์มอบหมายในวันนี้
ความรู้ที่ได้รับ
- การเลือกเรื่องในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้แก่เด็ก ควรเป็นเรื่องที่ ใกล้ตัว และมีผลกระทบต่อเด็ก
- เราจะทราบว่า เด็กเกิดการเรียนรู้ ได้จากวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้ (เด็กได้อะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น)
- แนวคิด สังกัป มโนทัศน์ Concept เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายเหมือนกัน
- การเขียนแนวคิดในแผนการจัดประสบการณ์นั้น จะต้องครอบคลุมหัวข้อเรื่อง เช่น เรื่องผลไม้ แนวคิดคือ ผลไม้ เป็นธรรมชาติรอบตัว ซึ่งจัดอยู่ในสิ่งมีชีวิตประเภทพืช อาศัยการเจริญเติบโต มีชื่อเรียกที่หลากหลาย มีลักษณะส่วนประกอบที่คล้ายหรือแตกต่างกันได้ โดยอาจจะจะมีทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง เป็นต้น
- แผนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ถ้าครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน จะดีมาก เช่น
- ด้านร่างกาย = พัฒนากล้ามเนื้อ/การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
- ด้านอารมณ์-จิตใจ = การแสดงออก การรับรู้ความรู้สึก
- ด้านสังคม = การมีปฏิสัมพันธ์ รู้จักช่วยเหลือตัวเอง
- ด้านสติปัญญา = ภาษา การแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล คิดสร้างสรรค์ การสังเกต
- การเขียนแผนกิจกรรม จะต้องเขียนในส่วนที่เราสอนจริง ๆ
ทักษะที่ได้รับ
- ทักษะการจัดประสบการณ์
- ทักษะการเขียนแผน
- ทักษะการคิดแบบมโนทัศน์ คิดเป็นระบบ
- ทักษะการแก้ปัญหาในการทำงาน
- ทักษะการนำเสนอข้อมูล
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
- การได้รับความรู้ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ในการเขียนแผนนั้น สามารถทำให้การเขียนแผนในครั้งต่อไป พัฒนามากยิ่งขึ้น
- เมื่อแผนการจัดกิจกรรมมีความสมบูรณ์ เหมาะสม การนำไปใช้กับเด็ก ก็จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
เทคนิคการสอนของอาจารย์
- อาจารย์เปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอในสิ่งที่ตนเองมีความเข้าใจอย่างนั้นก่อน แล้วอาจารย์ก็จะให้คำแนะนำเพิ่มเติม ติชมว่าสิ่งใดถูกต้องแล้ว สิ่งใดต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดี ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการสอดแทรกแนวคิดใหม่ ๆ ที่แตกแขนงออกไปจากเดิม หรือการยกตัวอย่าง เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจยิ่งขึ้น แล้วนำไปคิดต่อยอด เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีกว่าเดิม
ประเมินตนเอง : มีความเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจาย์และเพื่อนได้ ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม
ประเมินเพื่อน : เพื่อน ๆ มีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน มีความรับผิดชอบ
ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ใจดี ยอมรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา แนะนำแนวคิดดี ๆ และแปลกใหม่เป็นแนวทางให้นักศึกษานำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน