วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 2

วันพุธที่ 13 มกราคม 2559 เวลา 08.30-12.30 น.

บรรยากาศในการเรียน
          อาจารย์เริ่มการเรียนการสอนด้วยการเช็คชื่อ และถามเหตุผลเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้มาเรียนเมื่อชั่วโมงที่แล้ว จากนั้นก็นำกระดาษ A4 ปึกใหญ่ ๆ มาให้นักศึกษา โดยให้หยิบ 1 คนต่อ 1 แผ่น แล้วส่งไปให้เพื่อนคนต่อไปเรื่อย ๆ จนครบ เมื่อครบแล้ว จึงนำกระดาษที่เหลือมาคืนอาจารย์ จากนั้นอาจารย์จึงสรุปให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการเรียนในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา สิ่งใดที่นักศึกษาเข้าใจถูกแล้ว อาจารย์ก็สนับสนุน ส่วนใดยังไม่ถูกต้อง อาจารย์ก็ให้ความรู้ แนะนำในสิ่งที่ถูก พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ทำให้เรียนอย่างมีความสุข มีเสียงหัวเราะ และไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

ความรู้ที่ได้รับ

  • การแจกกระดาษแบบหยิบไว้ 1 แผ่น แล้วส่งต่อไปให้เพื่อนเรื่อย ๆ จนครบ เรียกว่า "การจับคู่แบบ 1 ต่อ 1" ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การทำแบบนี้บูรณาการทางด้านคณิตศาสตร์ได้หลายอย่าง เช่น การจำแนก การคิดเป็นเหตุเป็นผล การคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เราได้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้คิดย้อนกลับไปว่าเราได้อะไรจากสิ่งที่ทำบ้าง
  • ทำให้รู้ว่า คณิตศาสตร์ เป็นเครื่องมือ เปรียบเหมือนกับภาษาที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
  • อะไรที่เป็น "ผลกระทบ" แสดงว่าสิ่งนั้น "สำคัญ" เปรียบเหมือนคณิตศาสตร์ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 
  • การแลกเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "คณิตศาสตร์" ทำให้รู้ความหมายดังนี้ คณิตศาสตร์ คือ การคิดคำนวณในชีวิตประจำวัน ที่มีองค์ประกอบดังนี้ ตัวเลข โจทย์ปัญหา การบวก ลบ คูณ หาร การแก้สมการ การคิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมแจกกระดาษในวันนี้ ทำให้ได้เรียนรู้การจับคู่แบบ 1 ต่อ 1 และการจัดหมวดหมู่ว่า ต้องเลือกกระดาษที่เสียแล้ว 1 หน้า ซึ่งยังสามารถใช้ได้อีก 1 หน้า ไม่เลือกกระดาษที่เสียทั้ง 2 หน้า เป็นต้น 
  • จากการทำ My mapping หัวข้อ "การจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย" ทำให้รู้ขอบข่ายในหัวข้อดังกล่าว ดังนี้
  1. การจัดประสบการณ์ ได้แก่ หลักสูตร หลักการ แนวทาง การนำไปใช้ การจัดประสบการณ์โดยผู้ปกครอง และสื่อ
  2. คณิตศาสตร์ ได้แก่ ความหมาย ความสำคัญ สาระ ทักษะ และประโยชน์
  3. เด็กปฐมวัย ได้แก่ ความหมาย การเรียนรู้ และพัฒนาการ
ทักษะที่ได้รับ
  • ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร การจำแนกจัดหมวดหมู่ การคิดเป็นเหตุเป็นผล การคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา
  • ทักษะทางภาษาไทย คือ การนำความรู้ที่แลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ๆ มารวมกันเพื่อเป็นประโยคที่สมบูรณ์ หรือทำให้เป็นความเรียงที่เกิดจากการกลั่นกรองแล้ว
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • ทำให้สามารถนำแนวทางการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน มาใช้ในการสอนหรือการจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยได้
  • นำแนวความคิดทางคณิตศาสตร์ที่เป็นความรู้ใหม่ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • นำทักษะการเรียงลำดับคำเพื่อให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้การสื่อสารบรรลุวัตถุประสงค์ มีความเข้าใจตรงกัน
เทคนิคการสอนของอาจารย์
  • อาจารย์จะสอนโดยทางอ้อม คือ ให้ลงมือทำกิจกรรมตามที่ครูกำหนด นักศึกษาก็จะเกิดการเรียนรู้ขณะที่ทำ มีทักษะการคิดที่รวดเร็วมากขึ้น หลังจากนั้นอาจารย์จึงสรุป หรือย้อนทวนให้เราได้คิดตาม ว่าได้อะไรจากการทำกิจกรรม
  • นอกจากได้ความรู้แล้ว อาจารย์ยังสอดแทรกคุณธรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น
การประเมินผล
ประเมินตนเอง : ตั้งใจเรียน และทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนาน ให้ความร่วมมือ ตอบคำถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และเพื่อน
ประเมินเพื่อน : เพื่อน ๆ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม มีความรู้เดิมมาแลกเปลี่ยนกัน และทำให้สรุปได้เป็นความรู้ใหม่สำหรับพวกเราเอง มีเสียงหัวเราะ และสนุกสนานในการเรียน
ประเมินอาจารย์ : อาจารย์เตรียมการสอนมาอย่างดี ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฝึกให้นักศึกษาได้เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ และอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ดีงาม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น